10 เรื่องเกี่ยวกับเลนส์กล้องที่มือใหม่ต้องรู้ เพื่อความเข้าใจในการรู้จักเลนส์มากขึ้น

10 เรื่องเกี่ยวกับเลนส์กล้องที่มือใหม่ต้องรู้ เรื่องของเลนส์ก็เป็นหนึ่งในความสำคัญสำหรับมือใหม่เช่นเดียวกันกับเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากการที่จะตอบโจทย์มุมมองของเราออกมาได้นอกจากตัวกล้องแล้วก็ตัวเลนส์นี่แหละครับ การที่เราเข้าใจว่าเลนส์แต่ละแบบมีความแตกต่างกันยังไง มีจุดเด่นในการนำไปใช้แบบไหนได้บ้าง และเราควรเลือกเลนส์แบบไหน สามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้ครับ

ความยาวโฟกัสของเลนส์ถูกกำหนดให้เป็นระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางของเลนส์และเซ็นเซอร์ภาพของกล้องเมื่อโฟกัสที่ระยะอนันต์ (ระยะอินฟินนิตี้) เลนส์ทางยาวโฟกัสที่สั้นลงจะให้มุมมองที่กว้างขึ้น ในทางกลับกันความยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นทำให้ได้มุมมองที่สั้นลงสำหรับกล้อง Mirrorless/DSLR ความยาวโฟกัสของเลนส์ที่เปลี่ยนได้จะถูกวัดเป็นมิลลิเมตร ซึ่งความยาวโฟกัสของเลนส์จะดูได้ที่ด้านบนของตัวเลนส์ครับ

เมื่อคุณดูส่วนหน้าของกระบอกเลนส์เราจะเห็นหมายเลขอัตราส่วนและรูรับแสงของเลนส์ 1: 2.8, 1: 2.8-4, 1: 3.5-5.6 ซึ่งเป็นรูรับแสงสูงสุดของเลนส์

รูรับแสงจะกำหนดปริมาณแสงที่เลนส์ส่งผ่านไปยังเซ็นเซอร์รับภาพ ค่ารูรับแสงยิ่งน้อยก็จะยิ่งให้ความสว่างที่มากขึ้น (คือรูรับแสงกว้างขึ้นนั่นแหละ) เลนส์ซูมคุณภาพสูง(เกรดโปร) จะให้รูรับแสงคงที่ตลอดช่วงของทางยาวโฟกัส (เช่น f / 2.8 ที่ 35 มม. และ f / 2.8 ที่ 80 มม.) แต่ถ้าเป็นเลนส์ในเกรดธรรมดาทั่วไปค่า f-stop จะแตกต่างกันไปตามระยะของทางยาวโฟกัส (เช่น a f / 3.5 ที่ 28 มม. แต่ f / 5.6 ที่ 80 มม.) นั่นแปลว่ายิ่งเราซูม รูรับแสงยิ่งแคบลงนั่นเอง

ในการเลือกเลนส์ที่มีค่า f ต่ำ หรือเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง มักจะเป็นเลนส์ที่มีคุณภาพสูง และช่วยให้เราถ่ายภาพได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งเรื่องของการละลายหลัง และการถ่ายภาพในที่แสงน้อย แต่ก็ต้องเข้าใจนะครับว่าเลนส์ที่รูรับแสงกว้างและอยู่ในเกรดโปร ราคาก็สูงมากขึ้นตามไปด้วย

เลนส์มาตรฐานมีความยาวโฟกัสคงที่มักจะเป็นเลนส์ช่วง 50mm, 85mm, 100mm ส่วนเลนส์ในมิติและมุมมองเดียวกับสายตาจะเป็นระยะ 50mm ครับ สำหรับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสที่สูงขึ้น (85 มม. หรือ 100 มม.) มักจะเป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคลเพราะเมื่อใช้รูรับแสงกว้างจะทำให้การละลายฉากหลังได้อย่างสวยงามและนุ่มนวล

มุมกว้างมีความยาวโฟกัสสั้นลง 10mm – 42 mm เมื่อเปรียบเทียบกับเลนส์มาตรฐาน เลนส์พวกนี้เหมาะกับการถ่ายที่เรามีวัตถุประสงค์ชัดแล้วว่าต้องการเก็บหลาย ๆ อย่างเข้าไปในเฟรมภาพเดียว คือเก็บภาพได้กว้างมากขึ้นนั่นแหละ

ส่วนใหญ่แล้วเลนส์มุมกว้างจะถูกนำไปใช้กับการถ่ายภาพ Landscape หรือจะเป็นการถ่ายภาพ Event ที่เน้นมุมมองที่ตื่นเต้น และเก็บภาพกว้าง ๆ ได้ง่ายนั่นเอง นอกจากนี้เลนส์มุมกว่างเหล่านี้จะมีระยะชัดที่ค่อนข้างมาก(ละลายหลังได้ยาก)

เลนส์นี้ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะเป็นเลนส์ในช่วงระยะไกลที่เน้นจับวัตถุที่อยู่ไกลจากเรามาก ๆ อาจจะระยะที่ 200mm, 400mm เป็นต้น เลนส์จะทำหน้าที่ดึงวัตถุไกล ๆ ให้เข้ามาใกล้เรานั่นเอง อาจจะถ่ายภาพสัตว์ป่า หรืออะไรก็แล้วแต่เราเลย เลนส์ลักษณะนี้อาจจะมีนำไปใช้ถ่าย Portrait บ้างเช่นระยะ 70-200mm F2.8

หรือสำหรับบางท่านถนัดในการนำเลนส์ Telephoto ไปถ่ายภาพ Lanscape ก็มีเยอะมากเหมือนกันครับ ขึ้นอยู่กับมุมมองและความถนัด

เลนส์ซูม (Zoom Lenses) คือ เลนส์ที่มีระยะช่วงซูมที่ยืดหยุ่น เช่น 16-35, 24-70, 70-200 เป็นต้น อาจจะมีระยะต่างกันไปตามการออกแบบของแต่ละแบรนด์ แต่ละระบบกล้อง ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของเลนส์ซูม ก็คือให้ความสะดวกในการใช้งานระยะเลนส์ในแต่ละช่วง

ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญกับเลนส์แบบนี้ คือ ระยะที่ต้องการ คุณภาพเลนส์ และรูรับแสงในแต่ละช่วงซูม ถ้าเป็นเลนส์เกรดโปรอย่างที่บอกไป เลนส์ Zoom จะให้รูรับแสงคงที่ตลอดช่วง ให้คุณภาพของเลนส์ที่ดี คม เคลียร์ แต่ราคาสูงตามไปด้วย แต่ถ้าเลนส์ซูมเกรดปกติ อาจจะมีหลัก ๆ เรื่องความคมที่แตกต่างจากเลนส์โปร และเวลาซูมแล้วรูรับแสงจะแคบลงครับ

เลนส์ Fisheye เป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษที่ให้ภาพที่กว้างมากและคาแรคเตอร์ของภาพถ่ายทีออกมาจะเป็นแนวเส้นโค้ง ๆ ซึ่งหลายคนจะเคยเห็นในกล้อง GoPro หรือเลนส์ Fisheye อื่น ๆ ส่วนทางยาวโฟกัสก็จะแตกต่างกันไปตั้งแต่ระยะ 7mm – 16mm

เลนส์มาโครใช้สำหรับการถ่ายภาพระยะใกล้หรือ “มาโคร” เลนส์มาโครจะมีทางยาวโฟกัสอยู่ระหว่าง 50mm-200mm เลนส์เหล่านี้ได้รับโฟกัสที่คมชัดสำหรับวัตถุที่อยู่ในระยะโฟกัสของมาโคร แต่จะสูญเสียความสามารถในการโฟกัสที่คมชัดในระยะอื่น ๆ เลนส์เหล่านี้ช่วยให้ช่างภาพได้ภาพขนาดเท่าจริงหรือใหญ่กว่าเช่นตัวต่อผีเสื้อและดอกไม้

• รวมพื้นฐานที่ควรรู้เกี่ยวกับ White Balance สำหรับมือใหม่

เลนส์ Tilt Shift คือเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อจัดการเกี่ยวกับ Perspective โดยเฉพาะ สามารถปรับความเคลื่อนไหวได้ มีการปรับระดับขึ้นลง ซ้ายขวา (Shift) ก้มเงย (Tilt) การใช้เลนส์ตัวนี้ในการถ่ายภาพจะเน้นเส้นต่าง ๆ ให้ออกมาตรงเป๊ะ สำหรับภาพสถาปัตยกรรม Architecture , Interior เป็นต้น

ระบบกันสั่นในตัวเลนส์ (Image Stabilization Lens) คือเลนส์ที่มีระบบจัดการเกี่ยวกับการสั่นไหวภายในตัวเลนส์ เพื่อให้ภาพถ่ายของเรานิ่งในกรณีที่เราอาจจะเคลื่อนไหวไปด้วย ถ่ายภาพไปด้วย อยู่บนรถ อะไรแบบนั้น หรือกรณีที่เราต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าระยะโฟกัส ช่วยลดโอกาสที่ภาพจะเบลอลงนั่นเองครับ