มือใหม่หัดถ่ายรูป – ตอนที่ 1 มารู้จักกล้องดิจิตอลกันเถอะ
สมัยก่อนตอนที่คอมพิวเตอร์ยังไม่ใช่สิ่งที่พบมากแบบทุกวันนี้ โลกยังเป็นยุคอนาล็อกอยู่ นั่นหมายความว่าอุปกรณ์เครื่องมือทุกชิ้นล้วนทำงานแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์มาผสมทั้งนั้น
กล้องถ่ายรูปก็เป็นหนึ่งในสิ่งนั้น ราว 10-20 ปีก่อนกล้องถ่ายรูปทั้งหมดแทบจะเป็นกล้องฟิล์มทั้งหมด หากใครเกิดทันอาจจะเคยเห็นตลับฟิล์มที่ก่อนจะใช้ต้องเปิดกล้องและดึงฟิล์มออกมาเซ็ตเข้ากับกล้องให้เรียบร้อย จะถ่ายรูปก็ต้องมองผ่านช่องมองภาพและกดชัตเตอร์ ในยุคนั้นผู้ถ่ายจะไม่มีทางรู้เลยว่ารูปที่ออกมาจะเป็นยังไงจนกว่าจะเอาฟิล์มไปล้าง ด้วยวิธีที่ยุ่งยากพวกนี้ทำให้คนทั่วไปถ่ายรูปออกมาไม่สวยเท่าไหร่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่คนไม่นิยมถ่ายรูปเท่าตอนนี้ก็ว่าได้ล่ะ
แต่หลังจากโลกมีคอมพิวเตอร์แล้ว ยุคของการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มก็ถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิตอล ด้วยความง่ายของมันที่หลังจากกดชัตเตอร์แล้วก็เห็นรูปได้เลย การปรับค่าก็ง่ายขึ้น ตลับฟิล์มที่ใช้ยากและมีจำนวนรูปที่ถ่ายได้จำกัดก็เปลี่ยนเป็น Memory card เล็กๆ จุรูปถ่ายได้เป็นพันๆ รูป ถ่ายมาเสียก็ลบทิ้งตอนนั้นได้ทันทีด้วย คนสมัยนี้จึงถ่ายรูปกันเยอะมาก ยิ่งพอมีโซเชียลเน็ตเวิร์คมายิ่งถ่ายกันใหญ่ เรียกว่ายุค แชะแล้วแชร์ อย่างแท้จริง
เอาล่ะ เกริ่นมาตั้งนาน วันนี้ก็จะมาพูดเรื่องกล้องดิจิตอลนี่แหละ ทั้งหมดของกล้องในตลาดตอนนี้แทบไม่ต้องพูดแล้วว่า “มันคือกล้องดิจิตอลนะ” หลังจากกล้องรุ่นแรกๆ ออกมาแล้วได้รับความนิยม (แม้ตอนแรกจะยังไม่ค่อยมีคนใช้เยอะเพราะราคาแพง แต่หลังๆ เริ่มแมสขึ้น ราคาก็ถูกลงมา) รุ่นต่อๆ มาก็ผุดออกมาเป็นดอกเห็ดจนคนใช้เลือกไม่ถูก บทความนี้เลยเขียนขึ้นมาเพื่อบอกว่ากล้องดิจิตอลคืออะไรและแบ่งประเภทกล้องดิจิตอลให้ได้รู้จักกัน
ในการถ่ายรูปนั้น ตั้งแต่มีการคิดกล้องขึ้นมาหลักการก็แทบจะไม่ต่างจากเดิมเลย นั่นคือใช้เลนส์รวมแสงหรือรับแสงเข้ามาแล้วให้ตกกระทบกับฉากรับแสงเพื่อเกิดรูปนั้นไว้ เจ้าฉากรับแสงเนี่ยในสมัยก่อนเราใช้ฟิล์มแต่เมื่อยุคดิจิตอลมาถึง จากฟิล์มก็ถูกเปลี่ยนเป็นเซ็นเซอร์รับแสงแทน
ทีนี้พอใช้เซ็นเซอร์รับแสงสิ่งที่เราได้ก็ไม่ใช่ฟิล์มที่บันทึกภาพอีกต่อไปแต่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เก็บลงในเมมโมรี่การ์ดแทนยังไงล่ะ ไม่ว่าจะกล้องใหญ่ กล้องเล็ก กล้องมือถือต่างก็ใช้หลักการแบบนี้หมด
โดยเราขอแบ่งประเภทของกล้องออกเป็น
- สามัญชนคนทั่วไป เราขอแนะนำให้ใช้ กล้องมือถือ หรือ คอมแพ็ค ก็พอ
- มือใหม่อยากลองของแต่ยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ ถ้าอยู่ในกลุ่มนี้กล้องคอมแพ็ครุ่นสูงๆ ก็ยังตอบโจทย์คุณได้ หรือจะให้ดีลองเล่น มิเรอร์เลส ดูเลยดีกว่า
- มือโปรระดับถ่ายรูปหาเงินได้ ระดับนี้คุณคงไม่ต้องการคำแนะนำอะไรอีกแล้ว จัดเต็มกับ Mirrorless รุ่นสูงๆ หรือข้ามไปเล่น DSLR ไปได้เลย
โอเค ตอนนี้เรารู้แล้วว่ากล้องมี 3 ระดับ สูง-กลาง-ต่ำ ดังนั้นขอเริ่มเจาะรายละเอียดด้วยระดับเบสิกที่สุดตัวแรกกันเลย นั่นคือ
หมายถึงกล้องทั่วๆ ไปที่คนธรรมดาใช้กัน หรือกล้อง "Point and Shoots" ยกเล็งแล้วแชะเลย กล้องมักจะเซ็ตมาให้เป็นโหมด Auto โดยเปลี่ยนอะไรไม่ค่อยได้
เดี๋ยวนี้คนที่ถ่ายรูปไม่เป็นคงมีน้อยมากเลยเมื่อวิวัฒนาการของกล้องมันลงไปรวมร่างกับมือถือจนเป็นหนึ่งเดียวกันไปเรียบร้อยชนิดที่ว่ามือถือ (สมาร์ทโฟน) เครื่องนั้นคงขายไม่ออกอีกต่อไปถ้าไม่มีกล้องติดมาให้ด้วย เดี๋ยวนี้พัฒนาการของกล้องมือถือก้าวไปไกลแล้วนะ ระดับที่ว่าถ้าไปเที่ยวไม่ว่าจะทริปในประเทศหรือนอกประเทศ ใช้แค่มือถือถ่ายรูปก็ไม่น่าเกลียดอะไร จะเอากลับมาอัดรูป 4x6 ก็ยังได้เลยเพราะกล้องมือถือตอนนี้ก็มีความละเอียด 8-13 ล้านพิกเซลขึ้นไปแล้วทั้งนั้น ยิ่งถ้าคุณใช้ Nokia Lumia (ที่ตอนนี้โดนตัดแบรนด์โนเกียทิ้งไปซะแล้ว) ที่เน้นเรื่องกล้องเป็นพิเศษ เช่น Lumia 1020 ที่ให้กล้อง 41ล้านพิกเซลมากมันก็เยอะเกินไปแล้ว (ฮา)
- คนส่วนใหญ่ที่ไม่ซีเรียสกับการถ่ายรูป / ไม่แคร์ว่าคุณภาพของไฟล์เป็นอย่างไร ขอให้โชว์ให้เพื่อนๆ ดูได้ก็พอใจแล้ว
- คนที่ไม่อยากพกกล้อง เพราะมือถือติดตัวเราตลอดเวลาอยู่แล้ว อยากถ่ายก็แค่หยิบมือถือขึ้นมา
- มนุษย์โซเชียลที่ชอบการ แชะแล้วแชร์ เป็นชีวิตจิตใจ เพราะมันคือสมาร์ทโฟน เรื่องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทนั้นเรียกว่าจิ๊บๆ
- ผู้ที่ชอบ selfie ตัวเองและเพื่อนฝูง (มือถือมันเบาดีไง แถมมีกล้องหน้าด้วย ยกถ่ายง่าย)
- ชอบใช้แอพฯ แต่งภาพหรือ camera app ต่างๆ
แต่ข้อเสียของกล้องมือถือก็มีนะ
- จริงๆ แล้วชื่อมันก็บอกนะว่ามันคือ มือถือ! มันไม่ใช่กล้อง ถ้าอยากใช้มันแทนกล้องอาจจะไม่ถนัดมากนัก ปุ่มก็ไม่ค่อยมี ถือก็ยาก
- ถ่ายเยอะๆ พาลทำให้มือถือแบตหมดซะอีก
- และที่เป็นข้อด้อยของมันที่สุดก็คือเซ็นเซอร์รับภาพ!
สมาร์ทโฟนเดียวนี้แข่งกันที่ความบางและน้ำหนักเบากัน (แต่ขนาดหน้าจอกลับใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ) ดังนั้นการอัดกล้องขนาดใหญ่เข้าไปให้มือถือดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องดีเสียเท่าไหร่ พอกล้องมันขนาดเล็ก เซ็นเซอร์รับภาพจึงเล็กตามไปด้วย
คงจะเดาได้ว่าเซ็นเซอร์ใหญ่ย่อมให้ไฟล์รูปคุณภาพสูงกว่าเซ็นเซอร์เล็กอยู่แล้ว นั่นเป็นเหตุผลที่ภาพจากกล้องมือถือมันจะดีได้ในระดับหนึ่งแต่ยังไงก็สู้กล้องใหญ่ไม่ได้ยังไงล่ะ
เรื่องขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพทำให้ภาพออกมาต่างกันอย่างไรยังไม่ขอพูดตอนนี้ล่ะกัน เราไปดูประเภทของกล้องกันให้ครบก่อน
ในประเภทนี้ถือเป็น “กล้องจริงๆ” ตัวแรกของเรา กล้องตอนออกมาใหม่ๆ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแต่ปัจจุบันโดนตลาดสมาร์ทโฟนเบียดซะจนตกขอบจนรุ่นหลังๆ ต้องหาลูกเล่นแพรวพราวฟรุ้งฟริ้งใส่มาให้ดูมีอะไรแถมโปรโมทว่ากล้องตัวเองต่ออินเตอร์เน็ตแชร์รูปลงโซเชียลฯ ได้แล้วด้วยนะ สีสันก็มีให้เลือกมากที่สุด ไม่งั้นก็ขายไม่ออก
สำหรับกล้องชนิดนี้ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพก็ไม่ต่างจากกล้องมือถือมากนัก บางรุ่นเซ็นเซอร์เล็กกว่ากล้องมือถือซะอีกนะ แต่ขอได้เปรียบของมันคือเรื่องของเลนส์
แม้ว่ากล้องคอมแพ็คจะใช้เซ็นเซอร์แบบกล้องมือถือ แต่มือถือไม่มีเลนส์ออปติตอลซูม (เลนส์ที่ซูมยื่นออกมาได้) ทำให้เรื่องการรับแสง ซูมภาพไกลและการจับโฟกัสภาพมันทำได้ดีกว่า
เป็นกล้องที่ใช้ง่ายที่สุด ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเลนส์หรือซื้ออะไรมาติดเพิ่มไม่ได้ เรียกได้ว่าแกะห่อปุ๊บพร้อมใช้งานปั๊บ ส่วนใหญ่กล้องพวกนี้มักคิดแทนคนใช้ ทั้งการวัดแสง จับโฟกัส ปรับค่าสี ความเร็วชัตเตอร์ เรียกว่าทุกอย่างเลย ผู้ใช้เลือกได้แต่โหมด Auto เซ็ตค่าแมนนวลอะไรได้ค่อยจะได้ยกเว้นรุ่นสูงมากๆ ที่ทำออกมาตีตลาดกล้องกลุ่มโปร
- คนที่อยากได้กล้องแบบง่ายๆ คนใช้แค่กดชัตเตอร์อย่างเดียวที่เหลือกล้องคิดให้
- คนที่อยากได้กล้องถ่ายรูปแต่มือถือของตัวเองกล้องห่วยมาก และก็ยังไม่อยากซื้อมือถือใหม่ตอนนี้
- คนที่อยากได้กล้องแยกกับมือถือไปเลย กันแบตเตอรี่หมดหรือมีสายเรียกเข้าตอนกำลังถ่ายรูปอยู่พอดีเลย
แต่กล้องคอมแพ็คไม่เหมาะกับคนที่ไม่พอใจรูประดับกล้องมือถือทำได้ เพราะขนาดเซ็นเซอร์มันไม่ต่างกันเลยแบบที่บอกไปแล้วข้างต้น
โอเค มาถึงตอนนี้ถ้าคุณมีความรู้สึกว่ากล้องมือถือไม่ตอบโจทย์คุณอีกต่อไป ก็แปลว่าสิ่งที่คุณต้องการคือกล้องระดับโปรแล้ว
กล้องที่มาพร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานมากมาย เซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่ หน่วยประมวลผลที่เร็วรัวภาพได้เป็น10ภาพต่อเนื่อง บอดี้ของกล้องส่วนมากไม่ใช่พลาสติกทำให้ทนสภาพอากาศเย็นจัดได้ ที่สำคัญคือมีเลนส์ให้เลือกเปลี่ยนตามสถานการณ์ (เตรียมตัวเป็นโรคเลนส์งอกได้เลย เสียเงินแน่ๆ)
เดิมทีกล้องโปรคือ SLR พอเป็นกล้องดิจิตอลก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น DSLR (เติม D จาก Digital เข้าไปข้างหน้า) แต่ด้วยรูปร่างที่ใหญ่เทอะทะไม่ถูกใจคนส่วนมาก บริษัทกล้องจึงออกกล้อง Mirrorless ตามมาซึ่งเป็นการตัดกระจกสะท้อนภาพของ DSLR ทิ้งไป กล้องเลยมีขนาดเล็กลง
แปลว่าก่อนจะรู้จักมิเรอร์เลสได้ เราต้องรู้จักการก่อนว่า DSLR คืออะไร ประมาณจะสืบประวัติลูกหลานก็ต้องรู้จักต้นตระกูลเสียก่อน
กล้องดำเมี่ยมที่ใหญ่ขนาดฟาดหัวคนแตก ถือเป็นสิ่งที่คนที่เล่นกล้องใฝฝันอยากได้กัน แต่คนทั่วไปโดยเฉพาะสาวๆ ไม่ค่อยจะอยากถือมันซะเท่าไหร่เพราะรูปลักษณ์ใหญ่ ดำ หนักของมันนี่แหละ ยี่ห้อที่ดังที่สุดก็เห็นจะเป็น Canon กับ Nikon ล่ะ ปุ่มสำหรับควบคุมกล้องก็มากมายจนกดไม่ถูกเลย
DSLR ย่อมาจาก Digital Single-Lens Reflex หมายถึงกล้องที่ใช้เลนส์เดี่ยว (เลนส์ตัวเดียว) ในระบบดิจิตอล (ก็แน่อยู่แล้วล่ะ) ซึ่งรับภาพด้วยการสะท้อนม่านชัตเตอร์กระจกเอา (ห๊ะ? O__O )
ดูจากในรูป เจ้ากระจกที่ทำหน้าที่เป็นม่านชัตเตอร์คือสีน้ำเงิน ตัวเซ็นเซอร์รับภาพคือตัวสีเขียว เมื่อภาพเข้ามาตอนที่เรายังไม่ได้กดชัตเตอร์ เจ้ากระจกนั่นก็จะสะท้อนมันขึ้นไปยังช่องมองภาพ แต่พอเรากดชัตเตอร์ถ่ายภาพ กล้องจะดีดม่านชัตเตอร์กระจกขึ้นไป ทำให้ภาพจะพุ่งไปตกที่ตัวเซ็นเซอร์ได้และเราก็จะได้ยินเสียง "แชะ" ซึ่งมาจากการดีดม่านชัตเตอร์นี้นี่เอง
เรียกได้ว่า DSLR ใช้หลักการของกล้องฟิล์มสมัยก่อน (ที่เรียกว่า SLR) เพียงแค่เปลี่ยนจากฟิล์มเป็นตัวเซ็นเซอร์รับภาพเท่านั้นเอง
และแน่นอน ถ้าคุณเคยไปลองเล่น DSLR คุณอาจจะสงสัยว่ามันมีจอภาพติดมาทำไมไม่เห็นมีภาพแสดงเลย ต้องมองจากช่องมองอย่างเดียวตอนนี้ก็คงได้คำตอบแล้วสินะ เพราะสิ่งที่จะไปโผล่บนจอภาพได้มันจะต้องเป็นภาพที่ตกลงบนเซ็นเซอร์ แต่ถ้าเรายังไม่กดชัตเตอร์ ม่านชัตเตอร์ไม่เปิด เซ็นเซอร์ก็ไม่ได้ภาพหรอกนะ ที่ต้องทำแบบนี้เพราะอย่างแรกคือต้องการประหยัดแบตเตอรี่ไม่ต้องแสดงภาพบนจอตลอดเวลา อย่างที่สองคือช่วยให้ระบบโฟกัสของกล้องเร็วขึ้นด้วย
- คนที่อยากได้กล้องระดับสูง คุมได้ทุกอย่าง
- อยากได้ภาพถ่ายเทพๆ ปรับค่าได้ดั่งใจ
- คนที่อยากจริงจังกับการถ่ายภาพหรือรับงานสายนี้ แต่แน่นอนว่าต้องแลกมากับการศึกษาที่จริงจังกว่าจะคุมกล้องได้
- ต้อง-มี-ตังค์!
- คนที่ไม่อยากศึกษาอะไรมากมาย ซื้อกล้องใหญ่มาแล้วใช้แต่โหมด Auto
- ถ้าใช้แค่โหมด Auto แนะนำว่าอย่ากล้องใหญ่เลย ใช้แค่ คอมแพ็ค หรือถ้าอยากได้ไฟล์คุณภาพดีก็ใช้ มิเรอร์เลส ก็พอแล้ว คุณภาพของรูปก็ไม่ต่างกันหรอก
ในเมื่อกล้อง DSLR มันขนาดใหญ่มากเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของกล้องต้องเผื่อเอาไว้ให้กระจกสะท้อนแสง คนทั่วไปไม่ชอบ บริษัทกล้องเลยออกแบบใหม่ โดยกล้องมิเรอร์เลสจะมีขนาดลดลงเหลือเท่ากล้องคอมแพ็คเท่านั้น แต่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เหมือนDSLR จนดูเผินๆ แล้วนึกว่าเป็นกล้องขนาดเล็กไปเลย
ตอนกล้อง DSLR ค่ายที่เป็นผู้นำคือ Canon และ Nikon แต่สำหรับตลาดมิเรอร์เลสแล้วกลับไม่ค่อยดังมากเท่าไหร่ ในเรื่องนี้ค่าย Olympus, Sony, และ Panasonic (ในชื่อแบรนด์ Lumix) ทำได้ดีกว่า
สำหรับกล้อง DSLR ใช้หลักการดีดม่านชัตเตอร์กระจก มิลเลอร์เลสก็ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามคือฉันจะไม่ดีดม่านชัตเตอร์กระจกเพราะฉันไม่มี!
มิเรอร์เลสออกแบบมาโดยใช้คอนเซ็ปที่ว่า เอาDSLRมาย่อขนาดลง ดังนั้นอะไรไม่จำเป็นก็ตัดทิ้งไป ช่องมองที่จำเป็นสำหรับกล้องยุคฟิล์มเลยไม่จำเป็นอีกต่อไปเมื่อเรามีเซ็นเซอร์รับภาพที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ได้ ... เจ้า "ม่านกระจกชัตเตอร์" ที่มันทำให้ตัวกล้องใหญ่เลยเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกตัดทิ้งไป! เป็นที่มาของชื่อ มิลเลอร์เลสหรือกล้องไร้กระจกชัตเตอร์นั่นเอง
แต่ถึงมิเรอร์เลสจะถอดเปลี่ยนเลนส์ได้แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เลนส์ร่วมกับ DSLR ไม่ได้เพราะตัวต่อคนละตัวกัน เลนส์ของมิเรอร์เลสนั้นออกแบบมาให้พอๆ กับขนาดกล้องเล็ก จึงมีขนาดเล็กกว่าเลนส์ของ DSLR มาก
อย่างที่บอกไปตอนแรก เราแบ่งกล้องออกเป็นกล้องระดับบนและระดับล่าง แยกง่ายๆ ก็ด้วยวิธีการใช้งาน
- ถ้าเริ่มจริงจังกับรูปถ่าย อยากได้รูปสวยๆ แต่ไม่อยากศึกษาอะไรยุ่งยากนักก็สำรวจเงินในกระเป๋า กล้องคอมแพ็คจะถูกกว่า แต่ยังไงก็สู้มิเรอร์เลสไม่ได้ ... ผู้ใช้ในกลุ่มนี้ใช้แต่โหมด Auto แน่นอนและไม่ซื้อเลนส์ใหม่แน่นอน ดังนั้นเลือกซื้อรุ่นที่งบสู้ไหวก็พอ
- ระดับจริงจัง ในระดับนี้ผู้ใช้จะเริ่มศึกษาข้อมูลและทฤษฎีการถ่ายภาพแล้ว กล้องที่ตอบโจทย์ได้ขั้นต่อที่สุดคือมิเรอร์เลส แต่ถ้าใช้ไปเรื่อยๆ แล้วยังไม่พอใจอีกยังไงก็ได้ซื้อ DSLR แน่ๆ ล่ะ
Post a Comment