การเรียนรู้การใช้กล้องอย่างถูกวิธี การตั้งค่า การใช้อุปกรณ์เสริม

สารบัญ: การใช้กล้องอย่างถูกวิธี

• การเลือกใช้เลนส์

• การตั้งค่าความไวแสงของหน่วยรับภาพ

• การปรับตั้งค่าความสมดุลย์ของแสงสีขาว

• การตั้งความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสง

• การใช้ไฟเฟลช

• การใช้ขาตั้ง

ก่อนที่จะทำการถ่ายภาพ ควรใช้เวลาสักเล็กน้อยเรียนรู้หลักการและความสามารถของกล้องตลอดจนวิธีการปรับตั้งกล้องที่จะนำมาใช้ ถึงแม้ว่ากล้องยุคปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพียงเล็งไปยังวัตถุที่จะถ่ายแล้วกดปุ่มเปิดชัตเตอร์ ที่เหลือกล้องทำหน้าที่ให้หมด แต่หากเราต้องการได้ภาพที่แตกต่างออกไป เช่น ต้องการทำให้พื้นฉากหลังพร่ามัวเพื่อยังผลให้วัตถุที่เราถ่ายโดดเด่นขึ้น หรือต้องการถ่ายวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวให้คมชัด หรืออยากได้ภาพที่มีโทนสีที่อบอุ่นขึ้น ซึ่งถ้าเราเข้าใจการทำงานของปุ่มควบคุมต่าง ๆ ของกล้อง เราก็สามารถจัดการกับความต้องการเหล่านี้ ก่อนอื่นให้เราเรียนรู้ลำดับการใช้กล้องอย่างคร่าวๆ

ขั้นตอนการนำกล้องมาใช้ในการบันทึกภาพ

• ศึกษาการทำงานของกล้องที่จะนำมาใช้

• เลือกเลนส์ให้เหมาะกับงาน แล้วนำมาติดตั้งกับตัวกล้อง

• ติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยให้ได้ภาพที่ดีขึ้น เช่น แฟลช ขาตั้ง ฯลฯ

• ปรับตั้งค่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปริมาณของแสง อันได้แก่ ค่าความไวแสงของหน่วยรับภาพ

ค่าความสมดุลย์ของแสงสีขาว ค่าความเร็วชัตเตอร์และขนาดอะเพอร์เจอร์ หากต้องการให้กล้องคำนวนให้

ให้ตั้งรูปแบบอัตโนมัติ (AUTO)

• จับถือกล้องอย่างถูกวิธี เล็งผ่านช่องมองแสงไปยังวัตถุที่จะบันทึกภาพ

• ปรับหาโฟกัสของวัสถุในภาพ ซึ่งโดยปกติมักใช้ระบบหาโฟกัสของกล้อง

• จัดองค์ประกอบของภาพที่เห็นในช่องมอง

• รอจังหวะท่วงท่าของวัตถุ แล้วกดชัตเตอร์

• ใช้และเก็บรักษากล้องอย่างทะนุถนอม ไม่กระทบกระแทกกล้อง ระวังอย่าให้เลนส์มีรอยขีดข่วน ทำความสะอาดเลนส์ด้วยกระดาษเช็ดเลนส์และอุปกรณ์ทำความสะอาดเลนส์

(ค้นหาความหมายของคำต่างๆ ในบทความข้างล่างนี้จาก“หลักการทำงานของกล้อง” )

เลนส์ (Lens) มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพของภาพเป็นอย่างมาก เนื้อเลนส์ที่ทำจากแก้วจะมีคุณภาพดีกว่าเลนส์ที่ทำจากโพลิคาร์บอเนต เลนส์ที่ดีจะมีความใส ให้ความคมชัดและกระจายแสงได้เสมอกันทั่วทั้งภาพ (ตรวจสอบได้โดยการถ่ายภาพกำแพงเรียบ ๆ ที่มีความสว่างเท่า ๆ กันทั้งหน้า) ไม่มีอาการพร่ามัว (blur) ที่มุมภาพในขณะที่ส่วนกลางคมชัด และมีการบิดเบือนของภาพ (distortion) น้อย (เช่นถ่ายภาพของใบหน้าออกมาบวมเกินจากความเป็นจริง) เลนส์ที่ดีจึงมีราคาแพงและมีน้ำหนักมาก การเลือกใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสให้เหมาะกับงานก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น การถ่ายภาพบุคคลครึ่งตัว ควรใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัส ประมาณ 80 มม. ถึง 135 มม. ถ่ายภาพทิวทัศน์ ควรใช้ 35 - 50 มม. ถ่ายภาพนก ควรใช้ 250 มม.ขึ้นไป เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูงมีโอกาสที่ภาพจะสั่นไหวมากกว่าเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสต่ำเนื่องมาจากอัตราการขยายของภาพมากกว่า การสั่นไหวเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ภาพที่ได้ไม่คมชัด

สำหรับกล้องดิจิตอลนั้น ส่วนใหญ่กล้องจะคำนวณและตั้งค่าให้โดยอัตโนมัติ แต่หากเราต้องการตั้งเองก็สามารถทำได้ การตั้งค่า ISO โดยปกติจะตั้งไว้ที่ประมาณ 80 ถึง 250 สำหรับสภาวะแสงปกติ การถ่ายภาพในที่มืดหรือภาพเคลื่อนไหวสามารถตั้งค่าที่สูงขึ้นไปอีก แต่ไม่ควรเกิน 800 เนื่องจากจะเกิดปัญหาเรื่องเม็ดสีที่แตกพร่าและมีสีผิดเพี้ยน (Noises) เป็นที่คาดกันว่าหน่วยรับภาพจะถูกพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นอีก ในอนาคตจะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ขนาดของหน่วยรับภาพมีความสำคัญต่อคุณภาพของภาพมาก หากความหนาแน่นของพิกเซลใกล้เคียงกัน ขนาดของหน่วยรับภาพยิ่งใหญ่ขึ้นจะให้รายละเอียดของภาพที่ดีขึ้น คมชัดขึ้นกว่าหน่วยรับภาพที่เล็กกว่า จะเห็นว่ากล้องสำหรับมืออาชีพจะใช้หน่วยรับภาพขนาด FX ซึ่งเท่ากับขนาดของฟิล์ม 35 มม. และใหญ่กว่าขนาดของหน่วยรับภาพของกล้องระดับรองๆ ลงมา

นื่องจากแหล่งกำเนิดของแสงต่าง ๆ มีอุณหภูมิสีที่ต่างไปจากแสงของพระอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิสี 5,500 องศาเคลวิน เช่นแสงจากหลอดไฟจะมีสีอมเหลือง แสงจากนีออนมีสีอมฟ้า เมื่อแสงจากแหล่งกำเนิดแสงเหล่านี้ไปตกกระทบลงบนวัตถุ ก็จะทำให้ภาพของวัตถุนั้นมีสีเอนเอียงไปตามอุณหภูมิสีของแหล่งกำเนิดแสงนั้น ๆ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กล้องจึงทำการคำนวณค่าของสีชดเชยให้ โดยปกติกล้องรุ่นใหม่ ๆ จะทำหน้าที่นี้โดยอัตโนมัติ แต่ก็มีปุ่มสำหรับให้ผู้ใช้ปรับแต่งเองด้วย ในทางปฏิบัติ เรามักจะให้กล้องคำนวณหาค่าความสมดุลย์ของแสงสีขาว หากเราทดลองถ่ายแล้วเห็นว่าภาพทีได้มีโทนสีที่ไม่ถูกต้องก็สามารถทำการปรับค่าฯนี้เองได้ และถ้าเราเข้าใจนิสัยของกล้องที่ใช้อยู่ได้ดี เราก็ปรับตั้งค่าต่างๆ ตามสภาวะแสงที่เป็นอยู่ก่อนทำการบันทึกภาพก็ได้

เนื่องจากปริมาณแสงที่หน่วยรับภาพต้องการมีค่าคงตัวสำหรับ ISO หนึ่ง ๆ การปรับความเร็วชัตเตอร์กับขนาดรูรับแสง/อะเพอร์เจอร์ (Aperture) จึงต้องมีความสัมพันธ์กัน หากเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ก็ต้องเพิ่มขนาดของรูแสงอะเพอร์เจอร์ตาม (นั่นคือค่า f จะต่ำลงเช่น จาก f/11 เป็น f/5.6) การเลือกความเร็วชัตเตอร์สำหรับภาพทั่วไปไม่ควรต่ำกว่า 125 เพราะหากต่ำกว่านี้ ภาพอาจสั่นไหวได้ การตั้งความเร็วชัตเตอร์ต่ำมักใช้ถ่ายภาพกลางคืน ถ่ายเส้นสายของแสงไฟรถที่วิ่งไปตามทาง หรือถ่ายภาพน้ำตกให้เห็นสายน้ำเป็นเส้น ๆ ฯลฯ ส่วนการตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงมักใช้ถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหว เช่นภาพกีฬา ภาพนก ฯลฯ การตั้งขนาดรูรับแสงมีผลต่อระยะชัดลึก (ช่วงระยะห่างระหว่างจุดใกล้ที่สุดจากกล้องถึงจุดที่จะถ่ายเริ่มมีความคมชัดของภาพจนถึงระยะที่ไกลที่สุดที่เริ่มหมดความคมชัดหรือเรียกว่า “Depth of Field”) ขนาดรูรับแสงที่กว้างขึ้น ระยะชัดลึกก็จะน้อยลง ตัวอย่างเช่น ถ่ายภาพบุคคล ตาข้างหนึ่งจะคมชัด ส่วนอีกข้างซึ่งอยู่ไกลออกไปอีกเล็กน้อยเริ่มพร่ามัวหลังจากที่เพิ่มขนาดรูรับแสงขึ้น การเลือกขนาดรูรับแสงอยู่ที่ประเภทของภาพ เช่น หากถ่ายทิวทัศน์ จะใช้รูรับแสงที่เล็กเพื่อให้ภาพทุกจุดคมชัด (ใช้ f/8 ขึ้นไป) หากถ่ายภาพดอกไม้หรือแมลงจะใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้นเพื่อให้ดอกไม้เด่นและด้านหลังพร่ามัว (ใช้ f/5.6 แต่ไม่ควรกว้างกว่านี้เพราะระยะชัดลึกจะน้อยเกินไป)

กล้องประเภทคอมแพค มักไม่มีปุ่มให้ปรับตั้งความเร็วชัตเตอร์หรือรูรับแสง ต้องเป็นกล้องประเภทกึ่งมืออาชีพขึ้นไปจึงจะมีปุ่มปรับเหล่านี้ การปรับตั้งเริ่มจากเลือกรูปแบบการปรับตั้งที่ปุ่มหมุนบนกล้องก่อน แล้วจึงปรับค่าอื่นๆ ตามเงื่อนไขของรูปแบบที่เลือกไว้ ซึ่งกล้องส่วนใหญ่มีรูปแบบให้เลือกดังนี้

"AUTO" กล้องเป็นผู้คำนวณและเลือกค่าทุกอย่างโดยอัตโนมัติเพื่อให้ได้ปริมาณแสงที่ถูกต้อง

"M" (Manual) ผู้ใช้เป็นผู้ปรับตั้งค่าเองทั้งหมด

"S" (Shutter Priority) ผู้ใช้เป็นผู้ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ กล้องจะคำนวณหาค่าอะเพอร์เจอร์

"A" (Aperture Priority) ผู้ใช้เป็นผู้ตั้งค่ารูรับแสง (อะเพอร์เจอร์) กล้องจะคำนวณหาค่าความเร็วชัตเตอร์

"P" (Program) คล้ายรูปแบบ "AUTO" แต่ยอมให้ผู้ใช้ปรับแต่งค่าต่างๆ ได้

นอกจากนี้ กล้องแต่ละรุ่นยังมีรูปแบบอื่นๆ ให้เลือก เช่น รูปแบบสำหรับถ่ายทิวทัศน์ บุคคล ดอกไม้ ฯลฯ รูปแบบเหล่านี้มักแสดงเป็นภาพแทนตัวอักษร กล้องจะคำนวนค่าต่างๆ ให้โดยอัตโนมัติให้เหมาะกับรูปแบบที่เลือกไว้

นอกจากไฟแฟลชขนาดใหญ่ที่ใช้กันในสตูดิโอถ่ายภาพแล้ว ไฟแฟลช (Flashlight) ที่ติดกับตัวกล้องก็มีความสำคัญ ช่วยเพิ่มแสงให้แก่วัตถุที่จะถ่าย ทำให้ภาพออกมามีสีสันที่ดีขึ้น และยังช่วยให้เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงขึ้น แม้การถ่ายภาพนอกสถานที่ซึ่งมีแสงมากพอ เราสามารถใช้แฟลชเติมแสงด้านหน้าให้วัตถุอีกเล็กน้อย (Fill In) ทำให้วัตถุสว่างขึ้น เด่นชัดและลดเงามืดที่อาจมีปรากฏอยู่ การถ่ายภาพย้อนแสงหากใช้ไฟแฟลชช่วยจะทำด้านหน้าของวัตถุซึ่งมืดอยู่สว่างขึ้น เห็นรายละเอียดได้ดีขึ้น โดยปกติแสงไฟจากแฟลชเป็นแสงที่แข็ง เวลาใช้งาน หากถ่ายในห้องจะใช้วิธีหันหัวแฟลชขึ้นด้านบนทำมุมให้แสงแฟลชสะท้อนฝ้าเพดานกลับไปที่วัตถุที่จะถ่าย จะทำให้แสงนุ่มขึ้น หรือจะสวมหัวแฟลชด้วยยางขุ่นที่ทำเฉพาะ (Diffuser) ก็ช่วยให้แสงนุ่มขึ้นได้

ปัจจุบัน อุปกรณ์แฟลชที่ไม่ใช่อยู่ในตัวกล้องได้ถูกพัฒนาให้สามารถทำงานร่วมกับกล้องในการควบคุมค่าต่างๆ รวมถึงการกำหนดปริมาณแสงแฟลชที่จะปล่อยออกมาให้พอเหมาะไม่มากหรือน้อยไป ทำให้ได้ภาพที่สมบูรณ์และได้ปริมาณแสงที่ถูกต้อง (ระบบที่ใช้กันอยู่เรียกระบบ TTL หรือ Through-the-lens Metering) แฟลชบางรุ่นสามารถปรับตามระยะโฟกัสของเลนส์ได้เพื่อควบคุมการกระจายของแสงให้เพียงพอ

ขาตั้ง (Tripod) ช่วยยึดกล้องไม่ให้มีการสั่นไหวเวลาลั่นชัตเตอร์ ทำให้ภาพมีความคมชัดแม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำๆ เป็นเวลาหลายวินาที ดังนั้น เวลาการถ่ายภาพกลางคืน หรือเมื่อจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ จึงต้องใช้ขาตั้งช่วยเสมอ (หากมีความจำเป็นและหาขาตั้งไม่ได้ ให้หาที่ยึดที่มั่นคง เช่นเสาไฟฟ้า โต๊ะ เวลาถ่ายให้ยึดกล้องกับตัวช่วยเหล่านี้ให้มั่นๆ อย่าให้ขยับได้แม้แต่เล็กน้อย มิฉะนั้นภาพจะออกมาไม่คมชัดได้) ช่างภาพมืออาชีพหากมีโอกาส เขามักใช้ขาตั้งช่วยในการถ่ายภาพเสมอ แม้แต่การถ่ายภาพทิวทัศน์ในเวลากลางวันซึ่งมีแสงเพียงพออยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะเมื่อนำภาพไปขยายใหญ่ๆ ภาพก็ยังคมชัดอยู่และยังให้รายละเอียดที่ดี